วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557


 ปรากฏการณ์เอลนีโญ  ลานีญา

             บนโลกของเรามีกระแสน้ำอุ่นและกระเเสน้ำเย็นเคลื่อนที่ในมหาสมุทร ซึ่งการเคลื่อนที่ของกระแสน้ำอุ่นและกระแสน้ำเย็นช่วยให้เกิดความสมดุลของอุณหภูมิ และสภาพภูมิอากาศของโลกเป็นไปตามปกติ




                  ในภาวะปกติ มหาสมุทรแปซิฟิกแถบเส้นศูนย์สูตรจะมีลมสินค้าตะวันออกเฉียงเหนือ และลมสินค้าตะวันออกเฉียงใต้พัดพาน้ำบริเวณผิวหน้าที่มีอุณหภูมิสูงจากการรับพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ ลมสินค้าดังกล่าวพัดจากชายฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก คือทางฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก คือด้านตะวันออกของหมู่เกาะของประเทศอินโดนีเซีย

                  เมื่อมีการไหลของน้ำทะเลในระดับผิวพื้นออกจากบริเวณชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้  จะมีน้ำเย็นจากขั้วโลกที่ไหลเรียบชายฝั่งทวีปอเมริกา โดยเฉพาะน้ำเย็นที่อยู่ส่วนล่างซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่าไหลขึ้นมาแทน บริเวณชายฝั่งตะวันตกของทวีป อเมริกาใต้จึงมีอุณหภูมิต่ำ ส่งผลให้อากาศที่อยู่เหนือบริเวณนี้มีอุณหภูมิต่ำ ไม่สามารถก่อตัวขึ้นเป็นเมฆและฝนได้ ดังนั้นจึงมีสภาพอากาศที่แห้งแล้ง





 ส่วนมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกที่มีน้ำอุ่นมาสะสมอยู่ อากาศบริเวณนี้จึงมีอุณหภูมิและความชื้นสูง จึงก่อให้เกิดเมฆฝนขนาดใหญ่จำนวนมาก บริเวณนี้จึงมีฝนตกมาก


                   เอลนีโญ  ลานีญา

                   แต่บางครั้งสภาพลมฟ้าอากาศดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดปรากฏการณ์        เอลนีโญ และลานีญา
                   บางปีลมสินค้าอ่อนกำลังลงมาก ไม่สามารถพัดพาน้ำอุ่นจากฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ไปยังฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก และขณะเดียวกันน้ำอุ่นที่สะสมอยู่ทางฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกก็ไหลย้อนกลับไปทางตะวันออกอย่างช้าๆ จนในที่สุดเคลื่อนที่ไปถึงชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้
                   ทำให้น้ำทะเลบริเวณชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ส่งผลให้อากาศบริเวณนี้มีอุณหภูมิสูงและความชื้นสูงจึงลอยตัวสูงขึ้น และก่อตัวเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ ทำให้บริเวณนี้ซึ่งเคยแห้งแล้ง กลับมีฝนตกมาก ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า เอลนีโญ
                   




ในบางครั้งจะเกิดปรากฏการณ์ที่ตรงข้ามกัน กล่าวคือลมสินค้าที่พัดพาน้ำอุ่นจากมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันออกมีกำลังแรงกว่าปกติ และน้ำทะเลบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก คือชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้มีอุณหภูมิตำ่กว่าปกติ

                  ในขณะที่ทางฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก คือบริเวณประเทศอินโดนีเซีย อุณหภูมิน้ำทะเลจะสูงกว่าปกติ อากาศเหนือบริเวณนี้จึงมีอุณหภูมิและความชื้นสูงกว่าปกติ จึงทำให้เกิดฝนตกมากกว่าปกติ ขณะที่ฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้แห้งแล้งกว่าปกติ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ลานีญา

                   การเกิดเอลนีโญ และลานีญา เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติที่มีช่วงการเปลี่ยนแปลง
ไม่แน่นอน คืออยู่ในช่วง 2 ปีถึง 10 ปี     เอลนีโญ และ ลานีญา ส่งผลโดยตรงต่อโลกคือทำให้เกิดความแปรปรวนของลมฟ้าอากาศทั่วโลก อย่างไรก็ตามบริเวณต่างๆ จะได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน
โดยทั่วไปเอลนีโญจะทำให้บริเวณที่เคยมีฝนตกชุกจะมีปริมาณฝนลดลงอย่างมาก และบริเวณที่มีฝนน้อยจะมีฝนเพิ่มขึ้นมาก ส่วนลานีญาจะทำให้บริเวณที่มีฝนมากอยู่แล้วจะมีฝนเพิ่มขึ้นอีก และบริเวณที่แห้งแล้งจะยิ่งแล้งยิ่งขึ้นเช่นกัน
                   นอกจากนั้นน้ำเย็นในระดับล่างของมหาสมุทรจะอุดมไปด้วยสารอาหาร น้ำเย็นที่ไหลขึ้นสู่ผิวหน้าของมหาสมุทรจึงเป็นจุดเริ่มต้นของโซ่อาหารของสัตว์ทะเล โดยแพลงตอนจะกินสารอาหารเหล่านี้ ปลาขนาดเล็กจะกินแพลงตอน แล้วปลาขนาดใหญ่จะกินปลาขนาดเล็กกว่า เป็นโซ่อาหารต่อไปเรื่อยๆ จนถึงนกทะเล และสัตว์ทะเลอื่นๆ ที่กินปลาเป็นอาหาร ดังนั้นเมื่อน้ำทะเลบริเวณชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้อุ่นขึ้น ปลาและสัตว์ทะเลอื่นๆ ในบริเวณนี้จะลดลงเนื่องจากน้ำเย็นจากระดับล่างไม่สามารถขึ้นมาสู่ผิวหน้าของมหาสมุทรได้ ทำให้ขาดสารอาหาร
                  จากผลการศึกษาพอสรุปได้กว้างๆ ว่าหากเกิดเอลนีโญ ปริมาณฝนของประเทศไทยมีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่าปกติ โดยเฉพาะฤดูร้อนและต้นฤดูฝน ในขณะที่อุณหภูมิของอากาศจะสูงกว่าปกติ เฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เอลนีโญมีขนาดรุนแรง ผลกระทบดังกล่าวจะชัดเจนมากขึ้น สำหรับลานีญาพบว่า ทุกภาคของประเทศไทยมีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติทุกฤดู และพบว่าลานีญาที่มีขนาดปานกลางถึงรุนแรงส่งผลให้ปริมาณฝนในประเทศไทยสูงกว่าปกติมากขึ้น ขณะที่อุณหภูมิต่ำกว่าปกติมากขึ้น






ปล.ถ้าพิมพ์ตัวใดตัวหนึ่งผิด ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ เพราะพิมพ์เองทั้งหมด ^^
  
                  

วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2557

ชั้นบรรยากาศ

                
  อากาศที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา และที่หุ้มห่อโลกจากตั้งแต่พื้นดินขึ้นไป จนถึงระดับที่สูงสุดในท้องฟ้าเราเรียกว่า บรรยากาศ อากาศ หรือบรรยากาศ เป็นส่วนผสมของก๊าซต่าง ๆ รวมทั้งไอน้ำ ซึ่งระเหยมาจากพื้นน้ำในแหล่งต่างๆด้วย อากาศที่ไม่มีไอน้ำอยู่ด้วยเราเรียกว่า อากาศแห้ง ส่วนอากาศที่มีไอน้ำปนอยู่ด้วยเราเรียกว่า อากาศชื้น ไอน้ำในบรรยากาศมีอยู่ระหว่างร้อยละ 0–4 ของอากาศทั้งหมด แต่ไอน้ำเป็นส่วนผสมสำคัญยิ่งของอากาศ เพราะไอน้ำเป็นสาเหตุของการเกิดฝน ลม พายุ ฟ้าแลบและฟ้าร้อง อากาศแห้งมีส่วนผสมของอากาศโดยประมาณ ดังนี้

ไนโตรเจน ร้อยละ 78 , ออกซิเจน ร้อยละ 21 , อาร์กอน ร้อยละ 0.93 , ก๊าซ อื่น ๆ ร้อยละ 0.07

ตามปกติในธรรมชาติจะไม่มีอากาศแห้งแท้ ๆ อากาศทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นอากาศชื้น คือ มีไอน้ำปนอยู่ด้วยตั้งแต่ร้อยละ 0–4 ซึ่งหมายความว่า ถ้าอากาศชื้นมีน้ำหนัก กิโลกรัม จะมีไอน้ำอยู่อย่างมากได้เพียง 40 กรัม เมื่ออากาศมีไอน้ำปนอยู่ด้วยจำนวนส่วนผสมของก๊าซอื่นก็จะเปลี่ยนแปลงไปบางเล็กน้อย
ชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกของเราแบ่งออกได้เป็น 4 ขั้น ดังนี้


  1. โทรโพสเฟียร์ 2. สตราโทสเฟียร์ 3. เมโซสเฟียร์ 4. เทอร์มอสเฟียร์


               บรรยากาศชั้นโทรโพสเฟียร์ เป็นบรรยากาศชั้นล่างสุด ที่อยู่สูงจาากพื้นโลกขึ้นไป มีระยะความสูงประมาณ 10-12 กม. ประกอบด้วยส่วนผสมของก๊าซชนิดต่าง ๆ และไอน้ำ อุณหภูมิของอากาศจะลดลง ตามระดับความสูงที่เพิ่มขึ้น จนถึงระดับที่เรียกว่า โทรโพพอส ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของบรรยากาศชั้นนี้ นอกจากนี้บรรยากาศในชั้นนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวของอากาศ ทั้งในแนวนอน และแนวดิ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ ทางอุตุนิยมวิทยาต่าง ๆ ในบรรยากาศชั้นนี้ มากมายเช่น การก่อตัวของเมฆ ฝน พายุ ลมกรด ฯลฯ

               บรรยากาศชั้นสตราโทสเฟียร์ ชั้นนี้อยู่สูงจากชั้นโทรโพสเฟียร์ขึ้นไป มีแนวกั้นระหว่างชั้นที่เรียกว่า โทรโพพอส บรรยากาศชั้นนี้จะมีก๊าซโอโซนอยู่ และด้วยคุณสมบัติในการดูดแสงอัลตราไวโอเล็ต หรือแสงเหนือม่วงไว้ จึงทำให้อุณหภูมิของอากาศ ในชั้นนี้เพิ่มขึ้นตามความสูง ชั้นสูงสุดของบรรยากาศชั้นนี้เรียกว่า สตราโทพอส ซึ่งอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 50-55 กม.

               บรรยากาศชั้นเมโซสฟียร์ เป็นชั้นที่อยู่สูงขึ้นไปต่อจากชั้น สตราโทสเฟียร์ มีเขตกั้นระหว่างชั้นบรรยากาศทั้งสอง ที่เรียกว่า สตราโทพอส บรรยากาศชั้นนี้อยู่สูงขึ้นไป จนถึงระดับความสูง 85 กม. จากพื้นดิน และอุณหภูมิของอากาศจะลดลงอย่างรวดเร็ว ทันทีที่ผ่านพ้นเขตสตราโทพอสขึ้นไป ชั้นสูงสุดของบรรยากาศชั้นนี้เรียกว่า เมโซพอส เป็นเขตที่ตั้งระหว่างบรรยากาศชั้น เมโซสเฟียร์กับเทอร์มอสเฟียร์

               บรรยากาศชั้นเทอร์มอสเฟียร์ เป็นบรรยากาศชั้นนอกสุดที่ห่อหุ้มโลกอยู่ลักษณะเด่นของบรรยากาศในชั้นนี้ก็คือ อุณหภูมิเพิ่มขึ้นตามความสูงไม่มีที่สิ้นสุด โดยบรรยากาศในชั้นนี้จะมีการแตกตัวของโมเลกุลของก๊าซต่าง ๆ มากที่สุด มีประจุไฟฟ้าอิสระอยู่มาก จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าบรรยากาศชั้น ไอโอโนสเฟียร์ ซึ่งหมายความถึง การมีประจุไฟฟ้าอิสระอยู่มาก สามารถสะท้อนวิทยุคลื่นสั้นได้ จึงเป็นชั้นบรรยากาศ ที่ใช้ในการสื่อสารโทรคมนาคมทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ

รูโหว่ของโอโซน

   
                   โอโซนในบรรยากาศมีปริมาณน้อยมาก เฉลี่ยประมาณ 3 ใน 10 ล้านโมเลกุลอากาศ แม้ว่าจะมีปริมาณเล็กน้อยแต่มีบทบาทสำคัญในบรรยากาศมาก โดยปกติพบมากใน 2 บริเวณคือร้อยละ 90 พบในชั้นบรรยากาศ สตราโตสเฟียร์ ที่ความสูงประมาณ 8 ถึง 50 กิโลเมตร พบโอโซนหนาแน่นที่ประมาณ 15-35 กิโลเมตร เรียกว่า ชั้นโอโซนส่วนที่เหลือร้อยละ 10 พบที่บริเวณชั้นล่างลงมา คือ ชั้นโทรโพสเฟียร์

                   จากการตรวจวัดภาคพื้นและดาวเทียมซึ่งได้ใช้เวลาศึกษามากกว่า 2 ทศวรรษ ได้แสดงให้เห็นว่า สารเคมีที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นทำให้ชั้นโอโซนบางลง สารประกอบที่ทำลายโอโซนประกอบด้วยคลอรีน (Cl) ฟลูออรีน (F) โบรมีน (Br) คาร์บอน (C) และไฮโดรเจน (H) มักเรียกรวมกันว่า ฮาโลคาร์บอน ส่วนสารที่ประกอบด้วยเพียง คลอรีน ฟลูออรีนและคาร์บอน เรียกว่า คลอโรฟลูออโรคาร์บอน หรือ CFCs สารประกอบ CFCs คาร์บอนเตตระคลอไรด์ (CC14) และเมธิลคลอโรฟอร์ม เป็นก๊าซสังเคราะห์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็น เช่นตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ การเป่าโฟม การใช้ทำความสะอาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และใช้เป็นสารชะล้างอื่นๆ สามารถทำลายโอโซนได้เป็นอย่างมาก อีกกลุ่มหนึ่ง คือ ฮาลอน (halon) ประกอบด้วย C Br F และ Cl มักใช้เป็นสารดับเพลิง
                     การสูญเสียโอโซนในบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ เครื่องมือต่างๆ ทั้งภาคพื้นดิน และดาวเทียมตรวจพบว่ามีโอโซนลดลงมากเหนือทวีปแอนตาร์กติกถึงร้อยละ 60 ระหว่างเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายนของทุกปีซึ่งเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า รูรั่วโอโซนในทวีปแอนตาร์กติก และเกิดการลดลงทำนองเดียวกันในขั้วโลกเหนือคือทวีปอาร์กติก





ปล.ถ้าพิมพ์ตัวใดตัวหนึ่ง หรือ ตัวย่อผิด ก็ขออภัยด้วยนะครับ