ปรากฏการณ์เอลนีโญ ลานีญา
บนโลกของเรามีกระแสน้ำอุ่นและกระเเสน้ำเย็นเคลื่อนที่ในมหาสมุทร ซึ่งการเคลื่อนที่ของกระแสน้ำอุ่นและกระแสน้ำเย็นช่วยให้เกิดความสมดุลของอุณหภูมิ และสภาพภูมิอากาศของโลกเป็นไปตามปกติ
ในภาวะปกติ มหาสมุทรแปซิฟิกแถบเส้นศูนย์สูตรจะมีลมสินค้าตะวันออกเฉียงเหนือ และลมสินค้าตะวันออกเฉียงใต้พัดพาน้ำบริเวณผิวหน้าที่มีอุณหภูมิสูงจากการรับพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ ลมสินค้าดังกล่าวพัดจากชายฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก คือทางฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก คือด้านตะวันออกของหมู่เกาะของประเทศอินโดนีเซีย
เมื่อมีการไหลของน้ำทะเลในระดับผิวพื้นออกจากบริเวณชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ จะมีน้ำเย็นจากขั้วโลกที่ไหลเรียบชายฝั่งทวีปอเมริกา โดยเฉพาะน้ำเย็นที่อยู่ส่วนล่างซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่าไหลขึ้นมาแทน บริเวณชายฝั่งตะวันตกของทวีป อเมริกาใต้จึงมีอุณหภูมิต่ำ ส่งผลให้อากาศที่อยู่เหนือบริเวณนี้มีอุณหภูมิต่ำ ไม่สามารถก่อตัวขึ้นเป็นเมฆและฝนได้ ดังนั้นจึงมีสภาพอากาศที่แห้งแล้ง
เอลนีโญ ลานีญา
แต่บางครั้งสภาพลมฟ้าอากาศดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ เอลนีโญ และลานีญา
บางปีลมสินค้าอ่อนกำลังลงมาก ไม่สามารถพัดพาน้ำอุ่นจากฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ไปยังฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก และขณะเดียวกันน้ำอุ่นที่สะสมอยู่ทางฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกก็ไหลย้อนกลับไปทางตะวันออกอย่างช้าๆ จนในที่สุดเคลื่อนที่ไปถึงชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้
ทำให้น้ำทะเลบริเวณชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ส่งผลให้อากาศบริเวณนี้มีอุณหภูมิสูงและความชื้นสูงจึงลอยตัวสูงขึ้น และก่อตัวเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ ทำให้บริเวณนี้ซึ่งเคยแห้งแล้ง กลับมีฝนตกมาก ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า เอลนีโญ
ในบางครั้งจะเกิดปรากฏการณ์ที่ตรงข้ามกัน กล่าวคือลมสินค้าที่พัดพาน้ำอุ่นจากมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันออกมีกำลังแรงกว่าปกติ และน้ำทะเลบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก คือชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้มีอุณหภูมิตำ่กว่าปกติ
ในขณะที่ทางฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก คือบริเวณประเทศอินโดนีเซีย อุณหภูมิน้ำทะเลจะสูงกว่าปกติ อากาศเหนือบริเวณนี้จึงมีอุณหภูมิและความชื้นสูงกว่าปกติ จึงทำให้เกิดฝนตกมากกว่าปกติ ขณะที่ฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้แห้งแล้งกว่าปกติ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ลานีญา
การเกิดเอลนีโญ และลานีญา เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติที่มีช่วงการเปลี่ยนแปลง
ไม่แน่นอน คืออยู่ในช่วง 2 ปีถึง 10 ปี เอลนีโญ และ ลานีญา ส่งผลโดยตรงต่อโลกคือทำให้เกิดความแปรปรวนของลมฟ้าอากาศทั่วโลก อย่างไรก็ตามบริเวณต่างๆ จะได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน
โดยทั่วไปเอลนีโญจะทำให้บริเวณที่เคยมีฝนตกชุกจะมีปริมาณฝนลดลงอย่างมาก และบริเวณที่มีฝนน้อยจะมีฝนเพิ่มขึ้นมาก ส่วนลานีญาจะทำให้บริเวณที่มีฝนมากอยู่แล้วจะมีฝนเพิ่มขึ้นอีก และบริเวณที่แห้งแล้งจะยิ่งแล้งยิ่งขึ้นเช่นกัน
นอกจากนั้นน้ำเย็นในระดับล่างของมหาสมุทรจะอุดมไปด้วยสารอาหาร น้ำเย็นที่ไหลขึ้นสู่ผิวหน้าของมหาสมุทรจึงเป็นจุดเริ่มต้นของโซ่อาหารของสัตว์ทะเล โดยแพลงตอนจะกินสารอาหารเหล่านี้ ปลาขนาดเล็กจะกินแพลงตอน แล้วปลาขนาดใหญ่จะกินปลาขนาดเล็กกว่า เป็นโซ่อาหารต่อไปเรื่อยๆ จนถึงนกทะเล และสัตว์ทะเลอื่นๆ ที่กินปลาเป็นอาหาร ดังนั้นเมื่อน้ำทะเลบริเวณชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้อุ่นขึ้น ปลาและสัตว์ทะเลอื่นๆ ในบริเวณนี้จะลดลงเนื่องจากน้ำเย็นจากระดับล่างไม่สามารถขึ้นมาสู่ผิวหน้าของมหาสมุทรได้ ทำให้ขาดสารอาหาร
จากผลการศึกษาพอสรุปได้กว้างๆ ว่าหากเกิดเอลนีโญ ปริมาณฝนของประเทศไทยมีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่าปกติ โดยเฉพาะฤดูร้อนและต้นฤดูฝน ในขณะที่อุณหภูมิของอากาศจะสูงกว่าปกติ เฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เอลนีโญมีขนาดรุนแรง ผลกระทบดังกล่าวจะชัดเจนมากขึ้น สำหรับลานีญาพบว่า ทุกภาคของประเทศไทยมีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติทุกฤดู และพบว่าลานีญาที่มีขนาดปานกลางถึงรุนแรงส่งผลให้ปริมาณฝนในประเทศไทยสูงกว่าปกติมากขึ้น ขณะที่อุณหภูมิต่ำกว่าปกติมากขึ้น
ปล.ถ้าพิมพ์ตัวใดตัวหนึ่งผิด ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ เพราะพิมพ์เองทั้งหมด ^^
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น